|
"โลกร้อน"ภัยที่ทั่วโลกต้องร่วมแก้ไข [ 07/01/2551 ] |
ผลการศึกษาของกลุ่มเยอรมนีวอทช์ ระบุว่า ในปี 2549 โลกเผชิญหายนภัยทางธรรมชาติ เช่น พายุและน้ำท่วม มากกว่าช่วง 2 ปีก่อน โดยเกิดภัยธรรมชาติถึง 953 ครั้ง เทียบกับ 716 ครั้ง ในปี 2548 และ 718 ครั้งในปี 2547
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมา ทั่วโลกมีการเคลื่อนไหวสำคัญด้านภาวะโลกร้อนที่น่าจับตามอง เริ่มจากการเปิดเผยรายงานนำเสนอสถานการณ์ ผลกระทบ และแนวทางแก้ไขภาวะโลกร้อน รวม 4 ฉบับ ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติ (ไอพีซีซี) ซึ่งบทบาทกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกตระหนักถึงภัยภาวะโลกร้อนนี้ ทำให้ไอพีซีซีคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพไปครองร่วมกับอดีตรองประธานาธิบดีอัล กอร์ แห่งสหรัฐ
เนื้อหาในรายงาน ซึ่งเป็นผลจากการรวบรวมงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์กว่า 400 คนทั่วโลก ระบุว่า อุณหภูมิของโลกได้เพิ่มขึ้นแล้ว 0.74 องศาเซลเซียสในรอบร้อยปีที่ผ่านมา และมนุษย์คือตัวการสำคัญที่ก่อภาวะโลกร้อน โดยหากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้คนหลายพันล้านคนจะต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำ และอีกหลายร้อยล้านคนจะประสบภาวะขาดแคลนอาหาร หรือเกิดการย้ายถิ่นครั้งใหญ่
รายงานชี้ด้วยว่า แม้ชาติพัฒนาแล้วจะมีบทบาทสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่ชาติกลุ่มยากจนที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยสุดจะได้รับความเสียหายรุนแรงที่สุด ขณะแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกจะเพิ่ม 25-90% ภายในปี 2030 หากไม่มีการกำหนดนโยบายรับมือออกมา และหากโลกยังใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป อัตราการปล่อยก๊าซอาจเติบโตถึง 40-110% โดย 2 ใน 3 ของการปล่อยก๊าซมาจากประเทศกำลังพัฒนาที่กำลังเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามรอยชาติร่ำรวย
รายงานยูเอ็นได้รับการตอกย้ำจากผลการศึกษาของกลุ่มเยอรมนีวอทช์ ที่ระบุว่า ในปี 2549 โลกเผชิญหายนภัยทางธรรมชาติ เช่น พายุและน้ำท่วม มากกว่าช่วง 2 ปีก่อน โดยเกิดภัยธรรมชาติถึง 953 ครั้ง เทียบกับ 716 ครั้ง ในปี 2548 และ 718 ครั้งในปี 2547 และหากศึกษาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1950 พบว่าภัยธรรมชาติในรูปพายุเกิดเพิ่มขึ้นเท่าตัว ส่วนน้ำท่วมและภาวะอากาศสุดขั้ว เช่น คลื่นความร้อน และภัยแล้ง เกิดเพิ่ม 4 เท่า โดยชาติยากจนเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักสุด เช่น ฮอนดูรัส และนิการากัว ที่เผชิญเฮอริเคนหลายลูก ส่วนบังกลาเทศเผชิญพายุโซนร้อนที่สร้างความเสียหายอย่างหนักกับเศรษฐกิจ
ภัยจากภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรง ทำให้ระหว่างวันที่ 3-14 ธ.ค. ที่ผ่านมา สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมว่าด้วยสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่เกาะบาหลี ของอินโดนีเซีย มีผู้แทนจากภาครัฐและเอกชนนับหมื่นจากเกือบ 190 ชาติเข้าร่วม เพื่อกำหนดแนวทางทำข้อตกลงโลกร้อนฉบับใหม่แทนพิธีสารเกียวโตที่จะหมดอายุในปี 2555
ตามแผน การหารือเวทีนี้ต้องสิ้นสุดในวันที่ 14 ธ.ค. แต่เนื่องจากสหรัฐปฏิเสธที่จะผูกมัดตัวเองในการแก้ปัญหาโลกร้อน รวมถึงต่อข้อเสนอกำหนดเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 25-40% สำหรับชาติพัฒนาแล้ว ของสหภาพยุโรป (อียู) ทำให้การหารือต้องยืดเยื้อออกไปอีกหนึ่งวัน กว่าจะบรรลุข้อตกลง ซึ่งเรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า "แผนโรดแมพ" ปูทางสู่การทำข้อตกลงโลกร้อนฉบับใหม่
ภายใต้แผนโรดแมพ ที่ประชุมกำหนดให้การจัดทำข้อตกลงโลกร้อนฉบับใหม่ได้ข้อสรุปภายในสิ้นปี 2552 เพื่อปูทางสู่การเริ่มปรับใช้ในปี 2555 เมื่อพิธีสารโลกร้อนเกียวโตหมดอายุ นอกจากนั้น ทั้งชาติพัฒนาแล้วและชาติกำลังพัฒนาจะต้องร่วมมือกันต่อสู้กับภาวะโลกร้อน หลังจากในพิธีสารเกียวโตกำหนดให้เฉพาะชาติอุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 5% ภายในปี 2555 อันเป็นไปตามแนวคิดที่ว่า ชาติที่ก่อปัญหาปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตจะต้องเป็นผู้นำในการแก้ปัญหา
อย่างไรก็ตาม แม้ข้อตกลงใหม่จะดึงชาติกำลังพัฒนาเข้ามาร่วมรับผิดชอบมากขึ้น แต่ระดับความรับผิดชอบจะยังแตกต่างกัน โดยชาติร่ำรวยจะต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอัตราสูงกว่าชาติยากจน ซึ่งประเด็นนี้สหรัฐพยายามกดดันให้จีนและอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในชาติปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก เข้ามาร่วมรับผิดชอบมากขึ้น ซึ่งหากทำได้จริง สหรัฐก็อาจยอมให้สัตยาบันข้อตกลงโลกร้อนฉบับใหม่ หลังจากเป็นชาติอุตสาหกรรมเพียงชาติเดียวที่ไม่ยอมให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโต เนื่องจากวิตกว่าจะกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ และไม่พอใจที่จีนในฐานะชาติกำลังพัฒนา อยู่ในข่ายไม่ต้องร่วมลดการปล่อยก๊าซ
ในช่วงต้นของการหารือที่บาหลี สหรัฐยังคัดค้านเนื้อหาบางส่วนของข้อตกลง ที่ระบุให้ชาติอุตสาหกรรมให้การช่วยเหลือการเงินและความช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อให้ชาติกำลังพัฒนาเข้าถึงเทคโนโลยีลดการพึ่งพิงเชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษ แต่หลังถูกกดดันอย่างหนัก จนถึงกับถูกโห่ไล่จากผู้แทนคนอื่นๆ ซึ่งเป็นบรรยากาศที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในเวทียูเอ็น ผู้แทนเจรจาของสหรัฐจึงยอมปรับท่าที ตกลงตามข้อเรียกร้องของชาติกำลังพัฒนา
แม้ยูเอ็นและกลุ่มสิ่งแวดล้อมบางส่วนมองแง่ดีว่า ข้อตกลงหรือแผนโรดแมพที่ได้ มีความคืบหน้า เนื่องจากสหรัฐแสดงท่าทีต้องการร่วมดำเนินการรับมือภาวะโลกร้อนมากขึ้นในอนาคต อีกทั้งมีเนื้อหายืดหยุ่น ซึ่งเปิดทางให้มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐจะยอมลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนในการประชุมรอบสุดท้ายในปี 2552 โดยเฉพาะเมื่อสหรัฐมีรัฐบาลใหม่ ส่วนชาติกำลังพัฒนา รวมถึงจีนและอินเดียก็แสดงท่าทีพร้อมให้ความร่วมมือมากขึ้น
แต่ในมุมมองของสหภาพยุโรปและกลุ่มต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมอีกส่วน กลับแสดงความผิดหวังกับข้อตกลงที่บาหลี เนื่องจากไม่มีการกำหนดเป้าหมายชัดเจน เกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งกับชาติกำลังพัฒนาหรือชาติพัฒนาแล้ว
นักวิเคราะห์มองว่า ในช่วงหลายปีต่อไปนี้ ชาติกำลังพัฒนาจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นด้านการรับมือภาวะโลกร้อน เนื่องจากเนื้อหาในข้อตกลงเรียกร้องให้ชาติกำลังพัฒนา "ดำเนินการบรรเทาภาวะโลกร้อน ผ่านมาตรการที่วัดได้ รายงานได้ และตรวจสอบได้" ซึ่งหมายความว่า ประเทศอย่างจีน ที่กำลังจะแซงหน้าสหรัฐขึ้นเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับหนึ่งโลก จะต้องแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น
หนึ่งในบทบาทที่ชาติกำลังพัฒนาได้รับการผลักดันในเวทีบาหลี คือ การปกป้องพื้นที่ป่าที่กำลังถูกโค่นทำลายมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแผนให้ผลตอบแทนกับชาติกำลังพัฒนาที่ดำเนินการอนุรักษ์พื้นที่ป่า ซึ่งแนวทางนี้น่าจะได้การขานรับพอสมควร หากมองจากกรณีที่โครงการสิ่งแวดล้อมยูเอ็นรายงานความสำเร็จเมื่อเดือนพ.ย.ว่า สามารถผลักดันแผนปลูกป่าทั่วโลกตลอดปี 2550 ได้ตามเป้า คือ ชาติต่างๆ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มกำลังพัฒนา มีการปลูกต้นไม้เพิ่มรวมกันถึง 1.4 พันล้านต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อกังขาว่า ความรับผิดชอบของชาติกำลังพัฒนาจะครอบคลุมถึงการผูกมัดให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือไม่ เนื่องจากคำว่า "ดำเนินการ" เป็นคำที่มีความหมายกว้างๆ ขณะนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งแนะว่า น่าจะครอบคลุมการลดการปล่อยก๊าซในบางภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมผลิตเหล็ก หรืออุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า
ไม่ว่าข้อตกลงโลกร้อนฉบับใหม่จะออกมาเช่นไร ฝ่ายไหนชิงความได้เปรียบ ฝ่ายไหนเสียเปรียบ แต่ทุกฝ่ายต้องตระหนักว่า คงไม่สามารถหนีพ้นผลกระทบจากภาวะโลกร้อน หากปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข !
|
ที่มา : http://news.sanook.com/scoop/scoop_215544.php
|